2016 อาจจะเป็นตัวเลขชุดสำคัญที่บริษัทผู้ผลิต Smartphone รายใหญ่ของโลกอย่าง Samsung ต้องจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ของบริษัทอย่างแน่นอน เพราะเรือธงที่ได้รับการคาดหวังทั้งในเรื่องชื่อเสียง ส่วนแบ่งทางการตลาด และรายได้มหาศาลจาก Smartphone ในตระกูล Note ที่เปิดตัวใหม่ในปี 2016 อย่าง Samsung Galaxy Note 7 นั้นได้รับรายงานการระเบิดจากผู้ใช้งานกันเป็นว่าเล่น จนทำให้ Samsung ต้องยุติการขายรวมถึงเรียกคืนสินค้า และทำลายเครื่อง Galaxy Note 7 ทั้งหมด เพื่อหลีกเลี่ยงอุบัติเหตุไม่ให้เกิดซ้ำซากอีกจากสาเหตุที่ Samsung เองก็ยังไม่สามารถระบุได้ว่าเกิดจากความขัดข้องมาจากส่วนใดของตัวเครื่อง…
การแก้ไขที่ไม่สัมฤทธิ์ผล
หากให้ย้อนกลับไปพูดถึงเหตุการณ์เมื่อปีที่แล้วหลายคนคงจำได้ว่าหลังมีการแจ้งเหตุระเบิดจาก Samsung Galaxy Note 7 ทั่วทุกมุมโลกหลังส่งมอบสินค้าให้ผู้ที่สั่งจองไว้ไม่นาน Samsung ก็ได้ออกมาเรียกคืนสินค้าในล็อตแรกที่จัดส่งให้ลูกค้าไป หลังจากนั้นไม่นาน Samsung ก็ออกมาประกาศว่าได้แก้ไขสาเหตุที่ตัวเครื่องระเบิดแล้วสินค้าในล็อต 2 พร้อมจัดส่งสินค้าล็อตที่แก้ปัญหาการระเบิดออกวางจำหน่ายในตลาดอีกครั้ง แต่หลังจากนั้นไม่นานก็มีรายงานถึงการระเบิดของล็อต 2 ที่ Samsung ระบุว่าแก้ไขปัญหาไปเรียบร้อยแล้วอยู่ดี !!! จึงเป็นสาเหตุให้ Samsung ประกาศเลิกผลิต Samsung Galaxy Note 7 และเรียกคืนสินค้าทั้งหมดกลับสู่บริษัทเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุระเบิดขึ้นอีก หลังจากนั้นซัมซุงได้ตั้งทีมสืบปัญหาทั้งในหน่วยงานตัวเองและองค์กรอิสระภายนอกอย่าง UL, Exponent, TÜV Rheinland โดยตามหาสาเหตุการระเบิดจาก แบตเตอรี่กว่า 3 หมื่นก้อน โทรศัพท์กว่า 2 แสนเครื่อง ตั้งแต่กระบวนการออกแบบ, กระบวนการผลิตและขนส่งแบตเตอรี่, ทดสอบฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ ฯลฯ จนได้ข้อสรุปและออกมาประกาศถึงสาเหตุการระเบิดเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาว่า… (เดือนมกราคม 2017)
เผยสาเหตุการระเบิด
Samsung รายงานผลการทดสอบว่าสาเหตุการระเบิดนั้นเป็นข้อผิดพลาดของการออกแบบแบตเตอรี่และกระบวนการผลิตแบตเตอรี่ ซึ่ง แบตเตอรี่ที่ใช้งานนั้นมาจากผู้ผลิต 2 รายใหญ่ที่ Samsung เลือกใช้ (ไม่เปิดเผยชื่อผู้ผลิต) ซึ่งแบตเตอรี่จากทั้ง 2 บริษัทนั้นเกิดปัญหาการระเบิดทั้งคู่ !!! ซึ่งสร้างปัญหาการระเบิดที่แตกต่างกัน 2 กรณี โดยมีรายละเอียดโดยคร่าว ดังนี้
แบตเตอรี่ที่ใช้ใน Galaxy Note 7
Battery จากบริษัท A
แบตเตอรี่ชุดแรกจากบริษัท A เกิดข้อผิดพลาด “จากการออกแบบ” ซึ่งผู้ผลิตใช้แผ่นกั้นชั้นเลเยอร์ของแบตเตอรี่ (separator) ที่บางมากจนเกินไป โดยเฉพาะบริเวณมุมขวาบนของแบตเตอรี่ ที่บางและสั้นไปจนเกิดการงอได้ง่าย ซึ่งเมื่อเกิดการขยับเขยื้อนหรือกดทับจึงทำให้แบตเตอรี่แต่ละชั้นกระทบกันจนเกิดการลัดวงจรอย่างง่ายดาย
Battery จากบริษัท B
แบตเตอรี่ชุดที่สองผลิตจากบริษัท B ซึ่งได้แก้ไขข้อผิดพลาดจากการออกแบบที่เกิดขึ้นจากบริษัท A แต่ก็เกิดปัญหาใหม่คือ เกิดข้อผิดพลาด “จากการผลิต” ขั้นตอนการผลิตเทปฉนวนกันความร้อน (insulation tape) นั้นไม่ได้มาตรฐาน นอกจากนี้ยังตรวจพบว่าแบตเตอรี่บางก้อนไม่ใส่เทปฉนวนกันความร้อนอีกด้วย ทำให้แบตเตอรี่ร้อนเกินไปจนเป็นสาเหตุให้เกิดการระเบิดขึ้นได้อยู่ดี
จากเหตุการณ์ดังกล่าว ซัมซุงได้วางแนวทางแก้ไขปัญหาทั้งด้านการออกแบบและผลิตแบตเตอรี่ใหม่ โดยแบตเตอรี่ทุกก้อนที่จะผลิตขึ้นต้องผ่านกระบวนการออกแบบและตรวจสอบแบตเตอรี่ “8-Point Battery Safety Check“ พร้อมทั้งหลักการออกแบบแบตเตอรี่ใหม่ “Multi-layer Safety Measures” และตั้งทีม “Battery Advisory Group” กำกับกระบวนการผลิตแบตเตอรี่ทุกก้อนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จากเหตุการณ์นี้เชื่อว่าเป็น Case Study ที่ดีต่อผู้ผลิตทั้งหลายที่ต้องเลือกใช้งานแบตเตอรี่แบบ Lithium-Ion ในอุปกรณ์อิเลกทรอนิกส์ทุกชนิดต้องทบทวนถึงความปลอดภัยในการออกแบบและการผลิตแบตเตอรี่มากยิ่งขึ้นเพราะเหตุการณ์ระเบิดนั้นไม่ใช่เพียงเสียหายต่อทรัพย์สินและความเชื่อมั่นของลูกค้า แต่ยังอาจส่งผลถึงความปลอดภัยของผู้ใช้งานอีกด้วย
รายละเอียดเกี่ยวกับเหตุการณ์เพิ่มเติมโดยซัมซุง >>คลิกที่นี่<<