ความละเอียดของหน้าจอแสดงผลออกมาเพื่อตอบโจทย์คอนเท้นต์ที่นับวันยิ่งพัฒนาให้มีจำนวณพิกเซลที่เพิ่มมากขึ้น ย้อนไปตั้งแต่ HD ในยุคแรกที่หน้าจอทีวีส่วนใหญ่ยังคงเป็นความละเอียด 480P พัฒนามาเป็น 720P และ 1080P หรือ Full HD ที่กลายมาเป็นมาตรฐานใหม่ของหน้าจอแสดงผล จนในช่วง 1-2 ปีหลังความละเอียดของหน้าจอทีวีในตลาดเริ่มก้าวสู่ยุค 4K ที่มีความละเอียดเกือบจะเป็น 4 เท่าของ Full HD และยังไม่ทันที่จะหายงงกับคำว่า 4K ทีวี 4K HDR TV ก็ได้ก้าวเข้ามาเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เข้ามาในวงการทีวีที่สร้างความลังเล สับสน งงงวยต่อการเลือกซื้อทีวีมากขึ้น หรือสร้างความเจ็บใจกับคนที่เพิ่งซื้อทีวี 4K UHD ไปไม่นานก็ตามที แล้ว HDR TV ต่างจากทีวีปกติอย่างไร จะคุ้มค่าที่จะเพิ่มเงินซื้อหรือไม่มาดูกันครับ…
อะไรคือ HDR
HDR ย่อมาจาก High Dynamic Range โดย Dynamic Range คือความต่างของค่าแสงภายในรูปภาพระหว่างความสว่างกับความมืด ยิ่งมีช่วงไดนามิคที่มีความกว้างยิ่งมากก็ยิ่งเผยให้เห็นถึงรายละเอียดได้มากขึ้นเพราะช่วงระดับแสงที่เก็บ แยกแยะและแสดงผลได้นั้นมีช่วยที่กว้างกว่าการแสดงผลแบบปกติมากๆ ซึ่ง HDR ไม่ใช่เรื่องไกลตัวในระดับการทดลองที่ยังคงอยู่ในห้องแล็บทดลอง แต่มันมีอยู่ในฝ่ามือของคุณหลายๆคน… สมาร์ตโฟนรุ่นใหม่หลายๆรุ่นมีตัวเลือกการถ่ายภาพแบบ HDR ที่เข้ามาช่วยแก้ปัญหาการถ่ายภาพในสภาพแสงที่ผิดปกติ อย่างเช่นการหันหลังให้แสง(ยืนย้อนแสง) ที่การถ่ายภาพแบบปกติหากยกกล้องขึ้นมาถ่ายจะได้ภาพผลลัพธ์ 2 รูปแบบ คือเก็บภาพบรรยากาศของฉากหลังได้หน้าของตัวบุคคลก็จะมืดดำ หรือถ้าจะเก็บหน้าของตัวบุคคลฉากหลังก็จะสว่างขาวโพลนจนไม่เห็นรายละเอียดของฉากหลังเนื่องจากสภาพแสงขณะนั้นมีความแตกต่างของ Dynamic Range ที่สูงมาก ดังนั้นโหมดการถ่ายภาพแบบ HDR บนสมาร์ทโฟนนั้นจึงแก้ไขปัญหาสภาพแสงที่มีความแตกต่างกันสูงๆแบบนี้ด้วยการถ่ายภาพออกมา 3 ภาพ (ภาพที่มืดกว่าปกติ, ภาพที่สว่างกว่าปกติ และภาพที่อยู่ในระดับความสว่างมากกว่าปกติ) แล้วนำรายละเอียดที่มีอยู่ในภาพแต่ละสถานการณ์มารวมกันให้กลายเป็น 1 รูป ให้ได้ความสว่างที่พอดีทั้งฉากหลังและหน้าของตัวบุคคลที่ยืนย้อนแสงอยู่ทำให้เห็นรายละเอียดที่ครบถ้วนทุกตำแหน่งบนภาพครับ
อะไรคือ HDR TV
HDR TV คือโทรทัศน์ที่สามารถแสดงผลค่า Dynamic Range ที่สูงขึ้นกว่าโทรทัศน์ระบบปกติ แต่เทคนิค HDR แบบวิดีโอมีวิธีการคนละแบบกับที่ใช้ในการถ่ายภาพนิ่ง ต้องเพิ่งพาเทคนิคในการสร้าง Dynamic Range ที่สูงขึ้นกว่ากระบวนการปกติ จนไปถึงจอแสดงผลที่รองรับค่าสีและความต่างแสงที่มากกว่าปกติ เพราะค่า dynamic range ของ HDR สามารถสูงสุดได้ถึง 200,000:1 หรือ 17.6 stops พร้อมกับค่า Color depth ที่ 10-Bit เป็นพื้นฐานเพื่อให้ภาพที่ได้ไม่เรียบแบนและดูแปลกๆเหมือนหลักการ HDR ของภาพนิ่งครับ
ความแตกต่าง HDR TV กับ non-HDR TV
คำบรรยายกว่าสิบบรรทัดคงอธิบายได้ไม่ดีเท่าภาพผลลัพธ์การเปรียบเทียบ… ภาพด้านล่างคือภาพเปรียบเทียบความแตกต่างของทีวีและไฟล์ภาพยนตร์ที่รองรับการแสดงผลในระบบ HDR(ซ้าย) เปรียบเทียบกับทีวีที่แสดงผลในระบบปกติ(ขวา) ซึ่งเห็นความแตกต่างกันได้อย่างชัดเจนทั้งในเรื่องของสีสัน และรายละเอียดที่ซุกซ่อนในส่วนที่มืดกับสว่าง ซึ่งเป็นส่วนที่ระบบวิดีโอธรรมดาไม่สามารถแสดงได้ดีมากเท่าวิดีโอแบบ HDR อย่างสังเกตได้ในหลายๆ ซีน
มาตรฐานของผู้ผลิต HDR TV แต่จะยี่ห้อในท้องตลาด
เทคโนโลยี HDR ใน TV นั้นเป็นสิ่งใหม่ที่เกิดขึ้นในวงการทีวีและยังไม่มีการกำหนดกฎเกณฑ์ให้เป็นมาตรฐานตายตัวที่แน่นอน ดังนั้นกลุ่มผู้ผลิตแต่ละรายที่สนใจเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการผลิต HDR TV จึงได้พัฒนารูปแบบ HDR TV ในแบบฉบับของตัวเองเพื่อก้าวไปถึงคุณภาพของวิดีโอระดับ HDR ที่ดีที่สุดในเหตุผลต่างๆ นาๆ โดยความแตกต่างหลักๆนั้นจะต่างกันที่ระบบอัลกอริทึมในการประมวลผลที่ใช้งานแตกต่างกันออกไป ทำให้ในปัจจุบันนั้นมีมาตรฐานของ HDR TV ในท้องตลาดอยู่ 4 ประเภทใหญ่ๆ ดังนี้
HDR10
HDR10 Media Profile หรือ HDR10 เป็นมาตรฐานการแสดงวิดีโอแบบ HDR ที่กำหนดโดยหน่วยงาน Consumer Technology Association (CTA) เป็นองค์กรเอกชนกลางในการสร้างมาตรฐานในวงการเทคโนโลยีเพื่อสินค้าสำหรับผู้ใช้ตามบ้านเรือนทั่วไป จุดแข็งของมาตรฐานนี้คือเป็นมาตรฐานเปิด กำหนดมาเป็นสเปคกลางเพื่อให้ผู้ผลิตอุปกรณ์นั้นหยิบ HDR10 ปรับใช้ให้สอดคล้องกันกับมาตรฐานนี้ ข้อเสียคือด้วยการที่ไม่ได้บังคับตายตัวในเงื่อนไข จึงมีโอกาสในความคลาดเคลื่อนของระบบแสดงผลจากต้นฉบับได้สูงกว่า และเนื่องจากความเป็นมาตรฐานเปิดที่พร้อมให้ผู้ผลิตที่สนใจนำไปพัฒนาต่อยอดจากมาตรฐานนี้ต่อได้ จึงไม่ค่อยมีผู้ผลิตรายใดใช้คำว่า HDR10 เป็นตัวชูโรง แต่จะเลือกใช้คำว่า 4K HDR มากกว่า ดังนั้นถ้าคุณพบว่าทีวีใดที่ระบุว่ารองรับ 4K HDR นั่นหมายความว่า อย่างน้อยที่สุดทีวีรุ่นนั้นก็ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน 1 เจ้า ที่ชื่อว่า HDR10 นั่นเอง
Dolby Vision
Dolby Vision เกิดโดย Dolby Laboratories ซึ่งใช้รากฐานสเปคแบบคล้ายคลึงกับ HDR10 แต่เป็นระบบปิด คิดค่าลิขสิทธิกับสินค้าที่ใช้งานฟีเจอร์และสัญลักษณ์แบรนด์ เช่นเดียวกับระบบเสียง Dolby โดยในแง่ของสเปคแล้ว Dolby Vision มีความโดดเด่นสูงสุดทั้งการรองรับความลึกของสีถึง 12 บิต แม้ปัจจุบันพาเนล LCD, OLED ปัจจุบันยังรองรับแค่ 10-Bit ก็ตาม พร้อมทั้งรองรับความสว่างสูงสุด 10,000-nit เหนือกว่า HDR10 ที่รองรับแค่ 1,000-nit และความเที่ยงตรงของคุณภาพตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำอันแม่นยำสูง เพราะใช้อัลกอริทึมชุดเดียวทั้งหมด แม้จะแสดงผลผ่านทีวีต่างยี่ห้อ ความแตกต่างจะไม่หนีห่างกันไกลจากต้นฉบับมากเท่า HDR10 จึงเป็นระบบ HDR ที่ดีที่สุดและแพงที่สุด แต่เนื่องจากความเป็นมาตรฐานปิดทาง Dolby เรียกเก็บค่าลิขสิทธิ์ต่อเครื่องที่ใช้งาน Dolby Vision ซึ่งส่งผลต่อต้นทุนการผลิต ในปัจจุบันจึงสามารถพบเห็น ได้ในทีวีระดับ Hi-End หรือรุ่นที่ใช้พาเนล OLED (จอ OLED สามารถแสดงโทนสีได้ครบถ้วนกว่าจอ LCD)
HLG
ย่อมาจาก Hybrid Log-Gamma เป็นระบบที่พัฒนาโดย BBC และ NHK มีเป้าหมายให้สถานีโทรทัศน์สามารถออกอากาศในคุณภาพระดับ HDR ได้อย่างลื่นไหล กินทรัพยากรต่ำกว่า HDR10 และ Dolby Vision รวมถึงเข้ากันได้กับอุปกรณ์ที่ ไม่รองรับ HDR ก็สามารถรับชมโดยไม่ต้องเปลี่ยนอุปกรณ์ และให้ภาพได้ใกล้เคียง HDR อย่างไม่มีปัญหา (แน่นอนว่าภาพที่ได้จะดูดีกว่าการออกอากาศตามระบบปกติ แต่ไม่โดดเด่นเท่าการรับชมจากอุปกรณ์ที่รองรับ HDR โดยตรง) ณ ตอนนี้ ยังไม่มีอุปกรณ์ที่รองรับมาตรฐานที่ออกวางจำหน่าย แม้แต่ BBC และ NHK ก็ยังไม่ได้ออกอากาศผ่านระบบนี้แต่อย่างใด
By GrandDrake – Own work, CC0, Link
Advanced HDR by Technicolor
เป็นน้องใหม่สุดในวงการโดยมีหัวเรือหลักคือบริษัท Technicolor ผู้คิดค้นโซลูชั่นต่างๆ สำหรับงานสื่อที่วงการภาพยนตร์และผู้ผลิตสื่อมักเลือกใช้บริการ โดย Technicolor นั้นมีเป้าหมายหลักในการออกแบบเทคโนโลยี HDR สำหรับงาน Broadcast Media และงาน Upscaling วิดีโอแบบปกติ (SDR) เป็นวิดีโอแบบ HDR ที่สามารถแสดงผลได้ทั้งกับอุปกรณ์เก่า SDR และอุปกรณ์ใหม่ที่รองรับ HDR บนไฟล์ชุดเดียว อีกทั้งยังสามารถทำไฟล์สื่อให้รองรับกับมาตรฐาน HDR อื่นๆ อีกด้วย ซึ่งเทคโนโลยีนี้มีเป้าหมายคล้ายคลึงกับ Hybrid Log-Gamma ในฝั่งงานออกอากาศสถานีโทรทัศน์นั่นเอง แต่ Advanced HDR เน้นเปิดกว้างกับทั้งฝั่งสื่อด้านอื่นๆ นอกจากงานออกอากาศ เช่น ภาพยนตร์, streaming และวิดีโอเกม (แต่เป็นมาตรฐานที่บริษัท Technicolor ถือสิทธิ์เอาไว้) สำหรับทีวีที่รองรับเทคโนโลยี Advanced HDR ณ ตอนนี้มีแค่ LG เท่านั้นที่ Technicolor เลือก OLED TV รุ่นล่าสุด LG Signature OLED W-series ในการรองรับ Advanced HDR นี้
แล้วโลโก้ Ultra HD Premium คืออะไร?
ถ้าสังเกตทีวีบางยี่ห้อที่มีโลโก้ Ultra HD Premium เพิ่มเข้ามา ซึ่งเจ้าโลโก้นี้เป็นโลโก้ของ สมาคมกำกับการกำหนดมาตรฐานในการรับชมสื่อแบบ UHD (UHD Alliance) อย่างเพอเฟคที่สุดเท่าที่จะทำได้ในบ้าน มีพันธมิตรในวงการตั้งแต่ Hollywood studios จนไปถึงผู้ผลิตฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ชั้นนำอันมากมาย โดยในส่วนของทีวีที่มีโลโก้นี้ แสดงได้ว่าเป็นทีวีที่มีสเปครองรับ HDR, รองรับค่า brightness, contrast ratios, Color gamut และ Color depth ที่ได้มาตรฐานสูงเพียงพอที่จะทำให้คุณได้รับประสบการณ์การรับชมภาพยนตร์ระดับเดียวกันกับดูในโรงภาพยนตร์นั่นเอง คุ้มต่อการลงทุนซื้อในระยะยาว
แล้วตกลง สิ่งนี้จำเป็นหรือไม่?
- ถ้าคุณเพิ่งซื้อทีวีไปไม่นาน : ยังไม่จำเป็น เพราะสื่อในขณะนี้ยังเป็น SDR แทบทั้งนั้น
- ถ้าคุณกำลังจะซื้อทีวีใหม่ ณ ตอนนี้ : ทีวีที่รองรับ HDR หรือทีวีที่มีโลโก้ Ultra HD Premium ถือว่าใช้ได้แล้ว
- ถ้าคุณคิดจะซื้อ แต่ยังไม่รีบ และต้องการสิ่งที่ดีที่สุด : รอซื้อทีวีที่รองรับ HDR10 + Dolby Vision หรือรุ่นที่รองรับหลากหลายมาตรฐาน จะดีที่สุด
สำหรับในเวลานี้ HDR TV เหมาะสำหรับผู้คลั่งไคล้ความที่สุดในภาพและเสียง ยอมทุ่มทุนเพื่อการรับชมภาพยนต์อย่างดีที่สุดภายในบ้าน ซึ่งถามว่าจำเป็นหรือไม่ ? ถ้ากำลังซื้อทีวีใหม่ ถือว่าเหมาะสมมากในการซื้อ แต่ถ้าเพิ่งซื้อทีวีใหม่ที่ไม่รองรับ HDR ไปแล้ว ยังไม่จำเป็นต้องซื้อใหม่ตอนนี้ เนื่องจากมาตรฐานวิดีโอแบบใหม่นี้เพิ่งเปิดตัวไปไม่นานมากนัก สื่อวิดีโอที่ทำในรูปแบบ HDR จึงยังค่อนข้างจำกัดมาก อย่าว่าแต่ในเมืองไทยเลย ในอเมริกาหรือยุโรปยังมีสื่อวิดีโอแบบ HDR น้อยมากๆ แต่เทคโนโลยีนี้กำลังจะมีแนวโน้มเข้ามาในชีวิตประจำวันค่อยข้างสูงมาก มากยิ่งกว่าเทคโนโลยี 3D ที่ไม่รุ่ง และเชื่อว่าแม้ความแตกต่างอาจไม่รู้สึกต่างในทีแรกที่คุณเห็น แต่เราสามารถพูดได้ว่าเทคโนโลยีนี้น่าสนใจจริงๆ แค่ช่วงนี้คงต้องรอวงการสื่อปรับตัวเข้าหากันเสียหน่อยครับ