ช่วงนี้เทรนด์สุขภาพกำลังมาแรง ใครๆ ก็หันมาปั่นจักรยาน เข้ายิม ออกกำลังกายกันเต็มไปหมด และยิ่งในยุคโซเชียลเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต หลายคนก็อดไม่ได้ที่จะแชร์กิจกรรมต่างๆ ให้เพื่อนๆ ได้รับรู้ โดยเฉพาะผู้ที่มีอุปกรณ์ตรวจจับสถิติการออกกำลังกายหรือ Wearable Decive ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในตอนนี้ ก็สามารถแชร์ค่าสถิติต่างๆ มาแข่งขันเพื่อสร้างความท้าทายกับเพื่อนของคุณ แต่มีค่าหนึ่งที่หลายคนคงสงสัยนั่นคือ Heart Rate ว่ามันมีไว้เพื่ออะไร และมีประโยชน์อะไรต่อการออกกำลังของคุณ เราจะมาทำความรู้จักกับเรื่องนี้ไปด้วยกันนะครับ
Heart Rate คืออะไร ?
จริงๆ แล้ว Heart Rate ก็คือชีพจร หรืออัตราการเต้นของหัวใจนั่นเอง โดยจะวัดผ่านการเต้นของหลอดเลือดแดงในระยะเวลา 1 นาที ซึ่งอัตราการเต้นของหัวใจโดยปกติของผู้ใหญ่ จะอยู่ที่ประมาณ 60-100 ครั้งต่อนาที ในขณะพัก
นอกจากนี้ในขณะที่เราออกกำลังกาย กล้ามเนื้อส่วนต่างๆ จะทำงานมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้กล้ามเนื้อต้องการออกซิเจนเพื่อนำไปใช้ในการเผาผลาญแคลอรี่และสร้างพลังงานให้กับร่างกาย ดังนั้นเมื่อออกกำลังกายมากขึ้น หัวใจของเราจึงเต้นแรงยิ่งขึ้นเพื่อสูบฉีดเลือดที่จะนำพาออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงให้เพียงพอกับความต้องการ
ทั้งนี้ Heart Rate หรืออัตราการเต้นของหัวใจ ถือเป็นสัญญาณชีพที่เป็นตัวบ่งบอกถึงประสิทธิภาพการทำงานของหัวใจ ซึ่งหากมีความผิดปกติเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นจากโรคหัวใจ, ภาวะจากการมีไข้ หรือโรคต่างๆ ก็ทำให้อัตราการเต้นของหัวใจ สูงหรือ หรือต่ำ กว่าปกติได้
ที่มา : http://haamor.com
Heart Rate มีประโยชน์ต่อการออกกำลังกายอย่างไร ?
ในเวลาที่เราเคลื่อนไหวร่างกายเร็วขึ้น หรือใช้แรงในการทำอะไรต่างๆ มากขึ้น เคยสังเกตไหมครับว่า หัวใจของเราจะเต้นแรงขึ้น ยิ่งเวลาที่วิ่งเร็ว หรือเล่นกีฬาหนักๆ ก็จะหายใจแรงขึ้น หัวใจก็เต้นเร็วขึ้นตามไปด้วย ซึ่งอัตราการเต้นของหัวใจนี้เป็นตัวบ่งบอกถึงความฟิตของเรื่องกายในแต่ละคน นอกจากนี้ยังส่งผลต่อการเผาผลาญแคลอรี่อีกด้วย ซึ่งจะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับอัตราการเต้นของหัวใจ ยิ่งสูงมากเท่าไรก็ยิ่งเผาผลาญได้มากเท่านั้น โดยอัตราการเต้นของหัวใจสูงสุดที่ร่างกายรับได้ จะขึ้นอยู่กับเพศ และอายุ รวมถึงสุขภาพของแต่ละคนด้วย
นอกจากนี้เพื่อติดตามผลการออกกำลังกายให้ได้ตามเป้าหมาย จึงต้องมีการวัดอัตราการเต้นของหัวใจอย่างต่อเนื่องเพื่อใช้ในการคำนวนการเผาผลาญแคลอรี่ โดยเราจะต้องทราบ Maximum Heart Rate หรืออัตราการเต้นของหัวใจสูงสุด ของคุณเสียก่อน เพื่อที่จะใช้ในการกำหนดเป้าหมายของระดับ Traget Heart Rate ที่เหมาะสมกับตัวเรา โดย Traget Heart Rate ส่วนใหญ่จะมีการแบ่งเป็น 5 โซน คือ
- โซน 1 เป็นระดับง่าย ใช้ในการอุ่นเครื่องหรือวอร์มร่างกาย การเผาผลาญมีเพียงเล็กน้อย และใช้ไขมันเพียงเล็กน้อยในการเผาผลาญ
- โซน 2 เป็นระดับที่หนักมากขึ้น หรืออาจเรียกว่า Fat Burning Zone ซึ่งเชื่อว่าเป็นช่วงที่มีการเผาผลาญไขมันสูงมากขึ้น
- โซน 3 เป็นระดับ Cardio Zone ให้การเผาผลาญแคลอรี่ต่อชั่วโมงเพิ่มมากขึ้น และใช้พลังงานครึ่งหนึ่งจากคาร์โบไฮเดรตและอีกครึ่งหนึ่งมาจากไขมัน
- โซน 4 เป็นระดับ Anaerobic เป็นระดับที่หนัก โดยแคลอรี่จะถูกเผาผลาญมากยิ่งขึ้น โดยจะดึงพลังงานจากคาร์โบไฮเดรตมากกว่าไขมัน
- โซน 5 เป็นระดับ ที่หนักมาก การเต้นของหัวใจอาจจะขึ้นไปถึงระดับสูงสุด หรือ Maximum Heart Rate ซึ่งจะเผาผลาญแคลอรี่ได้มากที่สุด จนกลายเป็นสูตรที่นิยมเล่นเป็นโปรแกรมที่เรียกว่า HIIT (High-Intensity Interval Training) ซึ่งเมื่อออกกำลังกายให้แตะถึงระดับนี้ เป็นจังหวะสลับหนักกับเบา จะทำให้ระบบเผาผลาญทำงานต่อเนื่องไปอีก 24-48 ชั่วโมง หลังจากออกกำลังกายเสร็จ
ที่มา : https://www.facebook.com/notes/190147954351610/
วิธีวัดอัตราการเต้นของหัวใจ
เพื่อให้การออกกำลังกายบรรลุตามเป้าหมายที่เราตั้งไว้ จึงต้องมีเครื่องมือวัดเพื่อใช้ตรวจจับการเผาผลาญแคลอรี่ในแต่ละวัน ซึ่งปัจจุบันนี้มีเครื่องวัดอัตราการเต้นของหัวใจ หรือ Heart Rate Monitor หลากหลายแบบให้เลือก ดังนี้
วัดอัตราการเต้นของหัวใจต่อเนื่อง
เครื่องวัด Heart Rate แบบต่อเนื่องนี้ จะมีเซนเซอร์แบบ Continous Heart Rate โดยจะมีความสามารถในการตรวจจับ Heart Rate ได้ตลอดเวลาในขณะที่สวมใส่ จึงทำให้สามารถเก็บบันทึกสถิติได้อย่างละเอียดยิ่งขึ้น และยังช่วยให้คำนวนการเผาผลาญแคลอรี่ได้อย่างแม่นยำขึ้นด้วย นอกจากนี้มักจะมีหน้าจอที่สามารถดูอัตราการเต้นของหัวใจได้ทันที โดยเฉพาะเวลาที่คุณกำลังออกกำลังกาย ซึ่งจะช่วยให้เราปรับรูปแบบการออกกำลังกายให้มากหรือน้อย ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ดังนั้นจึงเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการดูแลสุขภาพอย่างจริงจัง และต้องการความแม่นยำสูงในการบันทึกสถิติ โดยอุปกรณ์ที่สามารถวัด Heart Rate ได้ต่อเนื่องมีดังนี้
Fitbit Charge HR – สายรัดข้อมือที่มาพร้อมเซนเซอร์วัด Heart Rate ได้ต่อเนื่อง และสามารถบอกโซนของระดับการเต้นของหัวใจ ว่าการออกกำลังกายของคุณอยู่ในช่วงไหน โดยจะแบ่งเป็น 3 โซน คือ Fat Burn, Cardio, Peak
[block]7[/block]
Fitbit Surge – เป็น Smart Watch ที่มาพร้อมเซนเซอร์วัด Heart Rate แบบต่อเนื่อง ซึ่งมีฟังก์ชั่นเหมือนกับ รุ่น Charge HR แต่มีหน้าจอที่ใหญ่ขึ้น และใช้ตรวจจับกิจกรรมกีฬาได้มากกว่า ซึ่งเป็นตัว Top ของ Fitbit
[block]8[/block]
Mio Fuse – เป็นสายรัดข้อมือ ที่วัด Heart Rate ได้แบบต่อเนื่องอีกรุ่นหนึ่ง โดยมีจุดเด่นที่สามารถกันน้ำได้ลึกถึง 30 เมตร และใช้งานร่วมกับแอพอื่นๆ ได้หลากหลายเช่น MapMyRun, MapMyRide, Endomondo เป็นต้น รวมถึงซิงค์ร่วมกับอุปกรณ์อื่นๆ ได้ อย่าง bike computers และ GPS watches
วัดอัตราการเต้นของหัวใจแบบไม่ต่อเนื่อง
ส่วนเครื่องวัดอีกแบบคือเครื่องวัด Heart Rate แบบไม่ต่อเนื่อง โดยการทำงานหลักๆ ผู้ใช้จะต้องสั่งงานด้วยตนเอง เพื่อเปิดฟังก์ชั่นวัด Heart Rate ให้ทำการตรวจวัดเมื่อต้องการ ซึ่งก็จะทำให้การเก็บสถิติไม่ละเอียดเท่ากับแบบต่อเนื่อง ซึ่งเครื่องวัดแบบนี้มักจะนิยมใช้ใน Smart Watch ทั่วไป ที่เน้นการใช้งานเบื้องต้นเท่านั้น ซึ่งมีตัวอย่างดังนี้
Apple Watch – เป็น Smart Watch จากแอปเปิ้ลตัวแรก ที่มาพร้อมเซนเซอร์วัด Heart Rate โดยจะการตรวจจับในทุกๆ 10 นาที ขณะสวมใส่
Samsung Gear Fit : เป็น Smart Watch สำหรับสาวกซัมซุง โดยเฉพาะ สามารถตรวจจับ นับก้าวเดิน, วัดระยะทาง, ความเร็ว, ความสูง และ Heart Rate ได้ และมีโหมดการออกกำลังกายให้เลือก 4 โหมด คือ วิ่ง, เดิน, ปั่นจักรยาน และปีนเขา โดยสามารถสั่งเปิดปิด การใช้งานร่วมกับ Heart Rate Sensor ได้
คงเห็นข้อแตกต่างของอุปกรณ์วัด Heart Rate ทั้ง 2 แบบกันแล้วนะครับ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับเป้าหมายในการใช้งาน ซึ่งหากใครที่ต้องการบันทึกสถิติการเผาผลาญอย่างละเอียดก็ควรเลือก อุปกรณ์ที่มีเซนเซอร์วัด Heart Rate แบบต่อเนื่อง หรือ Continuous Heart Rate Sensor และหากไม่ได้ใช้งานจริงจังขนาดนั้น หรือแค่ต้องการเช็ค Heart Rate ในขณะออกกำลังกาย ก็ให้เลือกรุ่นที่มีเซนเซอร์แบบไม่ต่อเนื่องก็พอครับ