ปัจจุบัน Smartphone คืออุปกรณ์ชิ้นหนึ่งที่ขาดไม่ได้ในชีวิตประจำวัน ผู้ใช้บางท่านอาจใช้งาน Smartphone ทั้งการแชท การดู YouTube หรือการเล่นเกม ซึ่งการใช้งานเหล่านี้ล้วนใช้พลังงานจากแบตเตอรี่มากจนทำให้ไม่อาจใช้งาน Smartphone ได้ตลอดวัน
Power Bank จึงเข้ามามีบทบาทในการรีชาร์จพลังไฟให้กับ Smartphone ของคุณในระหว่างวัน ไม่ว่าคุณจะอยู่สถานที่ใดก็สามารถใช้ Power Bank รีชาร์จ Smartphone ของคุณได้ทุกที่ ทุกเวลา แต่จะเลือกอย่างไรให้ได้ Power Bank ที่ถูกใจ เหมาะสมกับการใช้งานและอุปกรณ์ของเรา วันนี้เรามีคำแนะนำในการเลือกซื้อมาให้คุณ กับ 8 ขั้นตอนการเลือกซื้อ Power Bank ให้โดนใจ
1. คุณใช้ Smartphone หรือ Tablet
ทำความรู้จักกับอุปกรณ์ของเราว่าเป็นประเภทใด Smartphone หรือ Tablet หรือรองรับกับเทคโนโลยี Quick Charge หรือไม่ เพราะหากคุณใช้ Tablet อยู่ ก็จะต้องดูเรื่องของกระแสไฟของ Output ที่ Power Bank ซึ่งจะต้องไม่ต่ำกว่า 1.5A เพราะหากน้อยกว่านั้นจะไม่สามารถชาร์จเข้า Tablet ได้ แต่สำหรับ Smartphone แค่กระแส 1A ก็เอาอยู่
2. เช็คความจุแบตเตอรี่ในอุปกรณ์ของคุณ
ความจุแบตเตอรี่ของ Smartphone จะมีความจุแบตเตอรี่มีหน่วยเป็น mAh (มิลลิแอมป์) ส่วนใหญ่มีความจุแบตเตอรี่อยู่ที่ประมาณ 1,500 – 3,500 mAh ซึ่งเราสามารถตรวจสอบจากสเปกเวลาจะซื้อ Smartphone ได้ เมื่อรู้ความจุแบตเตอรี่ในอุปกรณ์ของเราแล้วก็ควรที่จะเลือกซื้อ Power Bank ที่มีความจุมากกว่าหรือเท่ากัน เพื่อไว้เติมพลังงานให้เต็มนั่นเอง
3. ดีไซน์ ขนาด น้ำหนัก
แม้ Power Bank หลายรุ่นมีปริมาณความจุไฟที่เท่ากัน แต่มีการดีไซน์ขนาดตัวเครื่องหรือรูปทรงที่เล็ก-ใหญ่ไม่เท่ากัน บางรุ่นอาจมีการดีไซน์เป็นทรงสี่เหลี่ยม บางรุ่นอาจมีการดีไซน์เป็นทรงกระบอก บางรุ่นอาจมีการดีไซน์เป็นทรงแท่ง ส่งผลถึงการใช้พื้นที่พกพาแตกต่างกัน รวมถึงน้ำหนักตัวเครื่อง
ยิ่งมีขนาดเล็กและน้ำหนักเบา ก็ยิ่งกะทัดรัด พกพาสะดวก แต่จะได้ความจุไฟในปริมาณที่ไม่มาก หากมีขนาดใหญ่และน้ำหนักมาก ก็จะยากแก่การพกพา แต่จะได้ความจุไฟในปริมาณที่มากขึ้น
ซึ่งเป็นจุดที่ควรพิจารณาในการเลือกซื้อไม่แพ้ข้ออื่นๆ อีกส่วนหนึ่งคือวัสดุของตัวเครื่อง Power Bank ส่วนใหญ่มักผลิตจากวัสดุพลาสติกเกรดดี แข็งแรง ในบางรุ่นจะชูฟีเจอร์ว่าผลิตจากวัสดุอะลูมิเนียมน้ำหนักเบา เพื่อผิวสัมผัสที่มีความหรูหรา ดูพรีเมี่ยมมากขึ้น ฉะนั้นวัสดุก็จะส่งผลต่อน้ำหนักของตัวเครื่องด้วยเช่นกัน
4. ความจุ x,xxx mAh แค่ไหนถึงจะพอ
Power Bank มีความจุไฟหลากหลาย เริ่มตั้งแต่ความจุ 1,000 mAh ไปจนถึงความจุ 20,000 – 40,000 mAh แต่ความจุไฟใน Power Bank นั้นไม่ใช่ความจุไฟที่อุปกรณ์ของเราจะได้รับจริงซึ่งเรียกว่า conversion loss หรือกระแสไฟฟ้าที่สูญเสียไประหว่างการแปลงจากตัว Power Bank เข้าสู่อุปกรณ์ของเรา ปกติ Power Bank จะมีค่า conversion loss อยู่ที่ประมาณ 65-75% (ขึ้นกับคุณภาพของ Power Bank แต่ละรุ่น แต่ละแบรนด์)
ยกตัวอย่างเช่น Power Bank ที่มีความจุไฟอยู่ที่ 10,000 mAh (หัก conversion loss 70% แล้วเหลือ 7,000 mAh) จะสามารถใช้ไฟได้จริงประมาณ 7,000 mAh เท่านั้น แล้วจึงนำมาคำนวณรอบชาร์จของอุปกรณ์ เช่น Power Bank หลังหักจากค่า conversion loss 70% แล้วเหลือ 7,000 mAh สามารถรีชาร์จ iPhone 6s ที่มีแบตเตอรี่ความจุ 1,715 mAh ได้ประมาณ 4 รอบ
แต่ทั้งนี้ หากมีการใช้งานอุปกรณ์ในระหว่างการรีชาร์จกับ Power Bank จะส่งผลให้ได้รอบการชาร์จลดน้อยลงเช่นกัน ฉะนั้นหากเราต้องการ Power Bank ที่มีความจุไฟเพียงพอกับการใช้งานว่าอยากให้ชาร์จอุปกรณ์ของเราได้กี่รอบ ให้ประเมินจากความจุไฟของ Power Bank แต่ละขนาด ด้วยการหักค่า conversion loss แล้วหารกับความจุไฟของอุปกรณ์ของเรา ก็จะทราบว่า Power Bank ความจุไฟขนาดใดที่เพียงพอต่อการใช้งานของเรา
5. ชาร์จทีละเครื่องไม่พอ ขอ 2 ได้ไหม
Power Bank มีพอร์ตไฟขาออก (Output) อย่างน้อย 1 พอร์ต ในบางรุ่นอาจมีจำนวนมากถึง 3 พอร์ต การมีจำนวนพอร์ตมากขึ้นจะทำให้ชาร์จอุปกรณ์ได้หลายเครื่องพร้อมกัน ช่วยในการประหยัดเวลาในการรีชาร์จอุปกรณ์หลายเครื่องได้ แต่สิ่งที่ควรดูคือช่อง Output แต่ละพอร์ตมีการแชร์กระแสไฟกันหรือไม่ ซึ่งเราสามารถตรวจสอบได้จากสเปคจากทางผู้ผลิต
การชาร์จไฟให้อุปกรณ์หลายเครื่อง ไฟที่เข้าแต่ละเครื่องจะถูกเฉลี่ยจากค่า Max Output ทำให้การรีชาร์จไฟได้ไม่เต็มที่เท่ากับการชาร์จอุปกรณ์เพียงชิ้นเดียว แต่หากเรามีอุปกรณ์ที่ต้องการชาร์จไฟแค่เครื่องเดียวก็ไม่จำเป็นต้องเลือก Power Bank รุ่นที่มีหลายพอร์ต เพราะจะแลกด้วยราคาที่เพิ่มขึ้นโดยไม่จำเป็น
6. Quick Charge เร่งสปีดให้แบตเต็มไว
พอร์ตไฟขาออก (Output) ของ Power Bank จะมีการระบุค่า Output เช่น 1A หรือ 2A หรือในบางรุ่นมีการระบุว่ารองรับเทคโนโลยี Quick Charge (สำหรับอุปกรณ์ที่รองรับ) โดยค่ากระแส Output 1.5A ขึ้นไปจะทำให้การชาร์จไฟเข้าสู่อุปกรณ์ของเรารวดเร็วขึ้น ใช้เวลาน้อยลง มีความคล่องตัวมากขึ้น
ตัวอย่างเช่น การชาร์จไฟอุปกรณ์จากแบตเตอรี่ 10% ให้เต็ม 100% ด้วยพอร์ตแบบ 1A จะใช้เวลาชาร์จนานถึง 3 ชั่วโมง แต่ถ้าหากชาร์จด้วยพอร์ตแบบ 2A จะช่วยย่นระยะเวลาให้เหลือเพียง 2 ชั่วโมง และหากตัวอุปกรณ์ของเรารองรับเทคโนโลยี Quick Charge และตัว Power Bank มีพอร์ต Quick Charge ด้วย จะช่วยย่นระยะเวลาการชาร์จไฟลงเหลือเพียง 1 ชั่วโมง เป็นต้น
ส่งผลให้ประหยัดเวลาและเพิ่มความสะดวกในการใช้งานมากขึ้น สำหรับการชาร์จ Tablet นั้น Power Bank ที่สามารถชาร์จไฟให้กับ Tablet ได้ควรจะมีค่า Output อยู่ที่ 1.5A ขึ้นไป หากต่ำกว่านี้อาจจะส่งผลให้ไม่สามารถชาร์จไฟเข้า Tablet ได้
7. กระแส Input ยิ่งมาก ยิ่งดี รีชาร์จไว
Power Bank ต้องการการรีชาร์จไฟเข้าเช่นเดียวกัน โดยค่านี้เรียกว่า Input มีหลักการเช่นเดียวกับค่า Output ส่งผลถึงระยะเวลาในการรีชาร์จไฟเข้า Power Bank ของเรา ค่า Input ยิ่งมากเท่าไร ก็ยิ่งชาร์จไฟได้เร็วขึ้นเท่านั้น Power Bank แต่ละรุ่น แต่ละแบรนด์อาจมีค่า Input แตกต่างกันไป เช่น 1A หรือ 2A ในบางรุ่นอาจรองรับเทคโนโลยี Quick Charge เช่นเดียวกับค่า Output
เมื่อใช้กับอแดปเตอร์ที่รองรับจะทำให้การชาร์จไฟเข้าสู่ตัว Power Bank ใช้เวลาน้อยลงมากกว่าเดิม เช่น Power Bank ความจุ 10,000 mAh ขึ้นไปอาจใช้เวลาในการรีชาร์จด้วยกระแส 1A นานถึง 10 ชั่วโมง เมื่อมีเทคโนโลยี Quick Charge หรือ ค่า Input 2A ขึ้นไปอาจจะใช้เวลาเหลือเพียง 4-6 ชั่วโมงเท่านั้น ช่วยให้ประหยัดเวลาในการเตรียม Power Bank ให้พร้อมใช้งาน สะดวกแก่การเตรียมตัวออกนอกสถานที่มากขึ้น
8. รองรับสายชาร์จ Input แบบเดียวกับมือถือ
โดยทั่วไป Power Bank มีพอร์ต Input เป็นชนิด MicroUSB เช่นเดียวกับ Smartphone ส่วนใหญ่ แต่ผู้ผลิตก็มีการเปิดตัว Power Bank บางรุ่นที่มีจุดเด่นด้วยการใช้พอร์ต Input สำหรับรีชาร์จแบบ Lightning, USB Type-C เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ที่หลากหลายมากขึ้น ข้อดีคือใช้สายเดียวชาร์จได้ทั้ง Smartphone และ Power Bank ช่วยเพิ่มความสะดวกสบาย ไม่ต้องพกพาสายชาร์จหลายสายให้พะรุงพะรัง
เพียงเท่านี้คุณก็สามารถเลือกซื้อ Power Bank ให้เหมาะสมและตรงกับการใช้งานได้อย่างไม่ยากอีกต่อไป