เป็นความชินตาเข้าไปทุกทีที่ไม่ว่าใครก็เริ่มมีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สวมใส่บนร่างกาย (Wearable) ทั้งที่มีรูปร่างหน้าตาคล้ายคลึงเพื่อทดแทนนาฬิกาข้อมือ หรือ Wristbands ทั่วไป หรือจะเป็น Activity Tracker ที่มีความสามารถใกล้เคียงกับนาฬิกาอัจฉริยะ จากกระแสสังคมที่ผู้คนหันมาใส่ใจสุขภาพร่างกายมากขึ้น มีกิจกรรมส่งเสริมการออกกำลังกายเป็นกลุ่มก๊วน มีงานเดิน-วิ่ง ให้ได้เรียกเหงื่อ (และสร้างตัวเลขยอดวิ่งเพื่อแชร์อวดลง Facebook, Instagram .. อุ๊ปส์) จนอาจจะเรียกได้ว่าไม่มียุคไหนที่เป็นโอกาสแจ้งเกิดของ Activity Tracker ได้ดีมากเท่าช่วงเวลานี้มาก่อน แต่อุปกรณ์ Tracker ที่ว่านี่มีประโยชน์อย่างไรและข้อมูลที่ได้นั้นมีความน่าเชื่อถือมากแค่ไหน รวมถึงทิศทางในอนาคตของมันจะเป็นอย่างไร คุ้มค่าต่อการขวนขวายหามาเป็นเจ้าของซักตัวหรือไม่ (สำหรับผู้ที่ยังลังเลอยู่) นั้นบทความนี้จะช่วยตอบคำถามเหล่านี้ของคุณได้ครับ…
จุดประสงค์และประโยชน์
Activity Trackers (หรือจะเรียก Fitness Bands ก็ได้ ในปัจจุบัน) ที่เราเห็นๆ กันอยู่นั้น พัฒนามาจากอุปกรณ์ที่เรียกว่า Pedometers หรือที่เรียกง่ายๆว่าตัวนับเก้าเท้านั่นเอง ซึ่งมีหน้าที่ในการคาดเดาความเคลื่อนไหวของร่างกายเพื่อนับและประมวลผลออกมาเป็นการก้าวเท้าเดิน เพื่อเป็นแรงผลักดันให้ผู้สวมใส่ได้ทราบจำนวนก้าวเท้าต่อวัน และเร่งให้ตนเองถึงเป้าหมายที่เหมาะสมราวๆ 7,000 – 8,000 ก้าว/วัน (บางท่านอาจโฟกัสที่ 10,000 ก้าวตามส่วนใหญ่ แต่อันที่จริงไม่ต้องขนาดนั้นก็ได้) โดยประโยชน์ของ Activity Tracker ที่ชัดเจนสุด คือการบันทึกและแสดงข้อมูล รวมถึงกระตุ้นให้ผู้สวมใส่ได้รู้ตัวอยู่ตลอดเวลาว่า “วันนี้เดินไปเท่าไหร่?” “วันนี้เราขยับเนื้อขยับตัวน้อยเกินไปมั้ย?” Activity Tracker เริ่มมีบทบาทในวงการ IT จาก Nike+ แพลตฟอร์มคนรักการวิ่ง ที่จับมือกับ Apple ออกเซนเซอร์ตรวจนับก้าวเท้าแบบฝังใต้รองเท้า ต่อกับเครื่องเล่นเพลง iPod เพื่อบันทึกระยะทางวิ่ง ซึ่งได้รับความนิยมในหมู่นักวิ่งพอสมควร แต่ในปัจจุบันนี้กระแสความนิยมในเมืองไทยกลับกลายเป็นของ Fitbit ที่ได้รับความนิยมอย่างล้นหลามจากการพนวกฟีเจอร์แบบ Pedometer เข้ากับแอพบนสมาร์ตโฟนที่สรุปข้อมูลที่ได้ให้เข้าใจ Contexts ง่ายขึ้น ประกอบกับการออกแบบที่มีให้เลือกใช้งานหลากหลายรูปแบบทั้งการออกแบบให้คล้ายคลึงกับการใส่กำไรข้อมือ แถมบางรุ่นยังสามารถเปลี่ยนสายได้ตามใจชอบอีกต่างหาก เรียกได้ว่านอกจากจะไม่ตกเทร็นการรักสุขภาพแล้วยังเกาะกระแสแฟชั่นไปในเวลาเดียวกันอีกด้วย
ฟีเจอร์เด่นที่มักพบเห็นได้บ่อยๆ
ในอุปกรณ์ส่วนใหญ่ที่พบเห็นได้ทั่วไปนั้น จะมีฟีเจอร์พื้นฐานที่คล้ายคลึงกันในแต่ละรุ่นคร่าวๆ ประมาณนี้
- นับก้าว – แน่นอนว่าฟีเจอร์หลักที่พบได้คือการนับจำนวนก้าว โดนการคาดเดาความเคลื่อนไหวที่เซนเซอร์ตรวจจับได้ แน่นอนว่ามีความคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงอยู่พอสมควร (ผู้ผลิตบางแบรนด์จึงระบุไว้ว่าไม่ใช่อุปกรณ์ทางการแพทย์) อย่างไรก็ดี สำหรับการใช้งานในชีวิตประจำวัน ตัวเลขที่ได้ก็มักจะเพียงพอสำหรับการเตือนตัวเองหรือบอกตัวเองว่าวันนี้ขี้เกียจหรือขยันขยับร่างกายมากน้อยแค่ไหน
- Altimeter – นอกจากการนับก้าวแล้ว บางอุปกรณ์ยังมีความสามารถในการวัดระดับความสูง ประมาณว่า วันนี้คุณเดินขึ้นบันไดเทียบเท่าความสูงตึกกี่ชั้น เป็นต้น ตัวเลือกนี้เหมาะสมกับผู้ที่ต้องการลดน้ำหนักหรือสร้างกล้ามเนื้อเพราะความชันของบันไดมีส่วนเร่งการใช้พลังงานในร่างกายสูงขึ้นเดิน-วิ่นบนทางราบ
- บันทึกการนอน – นอนไม่ค่อยเต็มอิ่ม? Activity Tracker สามารถตรวจจับการนอนหลับ ช่วยให้ข้อมูลโดยประมาณคร่าวๆ ได้ว่าคุณนอนกี่ชั่วโมง? รูปแบบการนอนเป็นอย่างไร? ซึ่งสามารถให้ข้อมูลได้บ้างว่าจะปรับปรุงการนอนอย่างไรให้ดีขึ้น งัวเงียเมื่อตื่นนอนน้อยลง เป็นต้น
- นาฬิกา – Activity Tracker บางตัวมาพร้อมฟีเจอร์การบอกเวลาในตัว ผ่านจอแสดงผลเล็กๆ ให้อารมณ์ประหนึ่งนาฬิกาดิจิตอลเล็กๆ ในอีกแง่หนึ่ง Smartwach ก็ทำหน้าที่นี้เป็นหลัก แล้วใส่ฟีเจอร์ Activity Tracker เสริมมา เช่นใน Apple Watch ที่เน้นบอกเวลา และรองรับการ Track กิจกรรมกีฬาและก้าวเดินในแต่ละวันในตัว
- แจ้งเตือน – เนื่องจากอุปกรณ์ดังกล่าวถูกออกแบบมาให้ใช้งานร่วมกับสมาร์ตโฟนตลอดเวลา จากความสะดวกของผู้ใช้ในการดูข้อมูลได้ง่าย อุปกรณ์ประเภทนี้จึงเพิ่มฟีเจอร์ในการแจ้งเตือนต่างๆ จากแอพ Social Network, โทรศัพท์, ข้อความ ฯลฯ เสริมจากตัวสมาร์ทโฟนอีกทีหนึ่ง และลูกเล่นด้านนี้จะพบได้มากบน Smartwach
กระแสในปัจจุบันและอนาคต
เทคโนโลยีที่พัฒนามากขึ้นทำให้หลายๆอย่างก็ทำได้ง่ายมากยิ่งขึ้น ในยุคก่อนหน้านี้อุปกรณ์นับเครื่องนับก้าวเท้า ก็ทำได้เพียงแค่นับก้าวเท้าอย่างเดียวเท่านั้น แต่ในปัจจุบันเซนเซอร์รูปแบบต่างๆสามารถพัฒนาให้ตรวจจับเพื่อเก็บข้อมูลต่างๆได้หลากหลายมากขึ้นอยู่ในอุปกรณ์เดียวกัน เช่น เซนเซอร์วันอัตราการเต้นของหัวใจ เซนเซอร์ตรวจจับพิกัด เซนเซอร์วัดปริมาณรังสี UV ฯลฯ รวบรวมกันไว้ในอุปกรณ์พกพาขนาดตัวเครื่องพอๆ กับนิ้วโป้ง ซึ่งมีมาในรูปแบบที่หลากหลายตามความสะดวกในการสวมใส่และพกพา ซึ่งในอนาคตนั้นเป็นไปได้สูงมากที่ความสามารถเฉดเช่นเดียวกันกับ Activity Tracker บนข้อมือ จะไปอยู่บนอุปกรณ์อื่นในชีวิตประจำวัน เช่น เข็มขัด, หูฟังไร้สาย, ขาแว่น หรือแม้ในอุปกรณ์แบบแหวนก็อาจเป็นไปได้ ส่วน Smartwach หรืออุปกรณ์สวมบนข้อมืออาจมีเซนเซอร์ตรวจวัดค่าต่างๆของร่างกายได้อย่างแม่นยำและหลากหลายมากจนเป็นอุปกรณ์หนึ่งที่แพทย์อาจขอข้อมูลพวกนั้นในการตรวจสุขภาพของคุณด้วย แต่ที่พูดมาทั้งหมดนี้ก็เพียงแค่การคาดเดาในอนาคต แต่ในปัจจุบันนี้ต้องบอกว่าความแม่นยำและความสามารถของ Activity Tracker นั้นอยู่ในระดับที่น่าพึงพอใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่ต้องการติดตามความเคลื่อนไหวและความเปลี่ยนแปลงในด้านสุขภาพของตัวเองนั้นไม่ควรพลาดที่จะมี Activity Tracker ติดตัวไว้ซักชิ้นครับ…
อยากลองดู Smartwatch เข้ามาดูใน Wemall กัน >>แก็ดเจ็ต<<