5 ทริคการดูแลรักษาหูฟังให้ดูใหม่

เชื่อว่าคนเล่นหูฟังทุกคน ก็อยากให้หูฟังของตนเองดูใหม่ ปราศจากรอยขีดข่วนและใช้งานได้ยาวนาน ไม่เสียง่ายกันทั้งนั้น เพราะบางรุ่นราคาแตะหลักพันถึงหลักหมื่นกันเลยทีเดียว คงเสียดายเงินแย่หากพังในเวลาอันสั้น ซึ่งแต่ละชิ้นส่วนของหูฟังก็ต้องเสื่อมสภาพไปตามการใช้งาน จะดีกว่ามั้ยถ้าเราสามารถทำให้หูฟังดูเหมือนใหม่ อยู่กับเราได้นานขึ้น เรามี 5 วิธีการดูแลรักษาหูฟังมานำเสนอ ไปดูกันเลยครับ

 

1. ถอดสายหูฟังให้ถูกวิธี

หูฟังบลูทูธ

สายบริเวณส่วนขั้ว อาจชำรุดได้ ถ้าเราถอดสายไม่ถูกวิธี

สาเหตุหนึ่งของการเสื่อมสภาพของสายหูฟัง ไม่ว่าจะเป็นอาการขาด หรือสายไฟภายในฉีกขาดจนทำให้หูฟังไม่สามารถใช้งานได้ มักเกิดจากการดึงสายหูฟังออกจากขั้วแจ็คที่ไม่ถูกต้อง นั่นคือการจับบริเวณส่วนที่เป็นสายดึงออกมาเลย เพราะเห็นว่าสะดวก แต่การทำเช่นนี้จะทำให้เกิดแรงกระชากจนเกิดความเสียหายต่อหูฟัง ซึ่งวิธีการถอดหูฟังที่ถูกต้องคือการจับบริเวณส่วนที่เป็นขั้วแล้วดึงออกมาตรงๆ วิธีนี้จะช่วยให้สายหูฟังของคุณไม่ขาดง่าย ฟังเพลงได้เสียงชัดจัดเต็ม

 

2. จัดเก็บในกล่องหรือถุงผ้า หากไม่ใช้งาน

หูฟังบลูทูธ

หูฟังที่มาพร้อมกล่องจัดเก็บในแพ็คเกจ

หากคุณไม่ได้ใช้หูฟัง ก็ควรเก็บในกล่องจัดเก็บ, ถุงผ้า ที่มาพร้อมแพ็คเกจหรือเก็บไว้ในลิ้นชัก ในตู้ เพราะการที่ไม่ได้ใช้หูฟังเป็นเวลานาน แต่วางไว้เฉยๆ ฝุ่นละอองอาจทำให้หูฟังของคุณหมองคล้ำได้ เช่น หูฟังสีขาว ถ้าโดนฝุ่นจับนานเข้าก็จะเปลี่ยนป็นสีครีมออกเหลือง ดูไม่น่าใช้เลย นอกจากนี้ แสงแดดที่ส่องเข้ามาก็มีส่วนทำให้ดอกลำโพง ฟองน้ำบริเวณไดร์เวอร์เสื่อมสภาพเร็ว ดังนั้น ควรเก็บหูฟังให้เป็นที่เมื่อไม่ได้ใช้งาน จะช่วยยืดอายุการใช้งานของหูฟัง และส่วนประกอบต่างๆ

 

3. ทำความสะอาดไดร์เวอร์อยู่เสมอ

หูฟังบลูทูธ

ไดร์เวอร์เป็นส่วนประกอบที่ซับซ้อนและบอบบาง

ไดร์เวอร์ (driver) เป็นส่วนประกอบที่สำคัญที่สุดเปรียบเสมือนหัวใจของคนเรา เพราะเป็นตัวก่อให้เกิดการขับเสียง ถึงแม้ส่วนของไดร์เวอร์จะมีการดีไซน์ให้มีการปกป้องอย่างมิดชิด ด้วยแผ่นกรองสิ่งสกปรกจากฝุ่นละอองหรือขี้หู แต่บางครั้งสิ่งสกปรกเหล่านี้ก็อาจเล็ดลอดเข้าไปยังภายในได้ ซึ่งอาจทำให้การขับเสียงออกมาผิดเพี้ยนได้ อีกทั้งไดร์เวอร์ยังเป็นชิ้นส่วนที่มีความซับซ้อนและบอบบาง เราจึงควรดูแลความสะอาดบริเวณจุกหรือเอียร์แพดหูฟังให้สะอาดเสมอ

โดยหูฟังอินเอียร์ ให้ดึงจุกออกมาล้างทำความสะอาดคราบขี้หู และใช้แปรงสีฟันขนนุ่มขัดบริเวณแผ่นกรองไดร์เวอร์ให้สะอาด ส่วนหูฟังแบบอินเอียร์ และโอเวอร์เอียร์ก็ให้นำผ้าสะอาดเช็ดบริเวณเอียร์แพด และนำแปรงสีฟันขนนุ่มขัดเศษฝุ่นที่ติดค้างอยู่ในแผ่นกรองให้สะอาด และหากเอียร์แพดของคุณเปื่อยยุ่ยจนหมดสภาพการใช้งาน ควรรีบทำการเปลี่ยนชิ้นส่วนใหม่ทันที เพื่อเป็นการรักษาสภาพของไดร์เวอร์ให้ปราศจากวัตถุแปลกปลอมที่อาจสร้างความเสียหายภายในได้

 

4. หูฟังบลูทูธไม่ควรปล่อยให้แบตหมด

หูฟังบลูทูธ

หูฟังประเภทที่มีแบตเตอรี่ในตัว

สำหรับหูฟังบลูทูธ จะมีส่วนประกอบที่เป็นแบตเตอรี่ในตัว โดยคุณสมบัติของแบตเตอรี่ชนิด Lithium-Ion นี้ต้องการพลังงานเก็บสะสมไว้ในเซลล์เพื่อรักษาความสามารถในการเก็บประจุไฟฟ้า ซึ่งหากไม่ได้ใช้งานเป็นเวลานาน จะเกิดการคายประจุออกมาเรื่อยๆ ทีละน้อยจนหมดเกลี้ยง ก็อาจจะทำให้แบตเตอรี่เสื่อมสภาพจนเก็บไฟได้น้อยลง หรือไม่สามารถเก็บพลังงานได้อีก ดังนั้น หากคุณไม่ได้ใช้งานหูฟังบลูทูธตัวไหนเป็นประจำ ก็ควรนำมารีชาร์จพลังงานบ้างเป็นครั้งคราว เพื่อเป็นการรักษาหูฟังบลูทูธของคุณให้มีอายุการใช้งานที่ยาวนานขึ้น

 

5. หลีกเลี่ยงจากความเปียกชื้น

หูฟังบลูทูธ

หลังจากกิจกรรมเสร็จแล้ว ควรรีบผึ่งหูฟังให้แห้ง

ความเปียกชื้น คือภัยร้ายต่ออุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าแทบทุกชนิด ในส่วนของหูฟังก็เช่นกัน ทั้งในส่วนของไดร์เวอร์หรือกลไกลแผงวงจรภายใน เป็นชิ้นส่วนที่ไวต่อความชื้น เนื่องจากบอบบาง และมีความซับซ้อนมากเป็นพิเศษ ดังนั้นเมื่อคุณใส่หูฟังขณะที่กำลังออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมที่ต้องสัมผัสความชื้น เช่นกีฬาทางน้ำ หรือกิจกรรมที่มีเหงื่อออกมาก หลังเสร็จกิจกรรมแล้ว ควรรีบน้ำหูฟังมาผึ่งลมในห้องที่มีอากาศถ่ายเท เพื่อไล่ความชื้นที่อาจสร้างความเสียหายกับระบบการขับเสียงได้ เพื่อรักษาสภาพของหูฟังให้คงทน ใช้งานได้ยาวนาน (คำเตือนในข้อนี้ อาจเป็นข้อยกเว้นสำหรับหูฟังบางแบรนด์ที่ได้รับการยืนยันว่าเป็นหูฟังแบบกันน้ำครับ)

 

เห็นมั้ยครับว่าเพียงคุณปฏิบัติได้ตาม 5 วิธีนี้ ก็จะสามารถเก็บรักษาหูฟังธรรมดาหรือหูฟังบลูทูธของคุณให้มีสภาพที่ใหม่ได้ไม่ยาก สามารถฟังเพลงโปรด ดนตรีมันส์ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นการยืดอายุการใช้งานหูฟังของคุณให้ยาวนานขึ้นด้วย

เลือกซื้อและช้อปสินค้าของหมวดแก็ดเจ็ต ได้ที่นี >แก็ดเจ็ต<

0.00 avg. rating (0% score) - 0 votes

Comments

comments

ช้อปปิ้งออนไลน์ WeMall ห้างสรรพสินค้าออนไลน์ที่แรกในประเทศไทย