หาคู่ “หู” มาเป็นคู่ชีวิต

หูฟังถือเป็นของรักสำหรับ Music Lover ทุกคน ส่วนตัวเเล้วผมเป็นคนที่ชอบฟังเพลงมาก จึงมีหูฟังหลายอันเพื่อใช้ในสถานการณ์ต่างๆ ทั้งกิจกรรมฟังเพลงยามดึก, ตอนไป-กลับจากทำงาน, ตอนเดินทางบนเครื่องบิน ฯลฯ แต่สำหรับบางคนอาจจะหาเเค่อันเดียวเเต่พกไปไหนมาไหนด้วยทุกสถานการณ์ซึ่งการหาคู่ “หู” ที่ใช่สำหรับคุณนั้นต้องรู้อะไรบ้าง มาดูกัน

ประเภทของหูฟัง

สิ่งแรกที่จะช่วยเราค้นหาหูฟังในฝันได้ก็คือต้องรู้ประเภทของหูฟังเสียก่อน เพราะหูฟังแต่ละประเภทนั้นมีรูปร่างและวิธีการใช้งานที่ต่างกันออกไป และยังถูกออกแบบมาให้ใช้ในสถานการณ์ที่ต่างกันออกไปด้วย

Earbuds

earbuds
หูฟังแบบแปะหู (earbuds) ถือเป็นหูฟังที่เราคุ้นเคยมากที่สุดเพราะโดยส่วนมากเเล้วมักเเถมมากับเครื่องเล่นหรือมือถือ เช่น iPod, iPhone
จุดดี
Earbuds ถือเป็นหูฟังที่สบายหูและสบายกระเป๋าสตางค์ โดยมีขนาดเล็ก กะทัดรัด น้ำหนักเบา พกพาได้สะดวก ไม่ว่าจะใส่กระเป๋าเสื้อหรือกระเป๋ากางเกงก็ได้ ส่วนความสบายในการสวมใส่หูฟังแบบนี้สามารถใส่ได้นานไม่เจ็บหู คนที่ใส่แว่นตามักจะชอบแบบนี้เพราะใส่สบายกว่าหูฟังแบบครอบหู ส่วนราคามีให้เลือกหลากหลาย โดยมากมาในราคาย่อมเยา

จุดด้อย
แม้จะสวมใส่สบาย แต่บางรุ่นก็หลุดออกจากหูได้ง่าย จึงไม่เหมาะสำหรับคนที่ชอบออกกำลังกาย เช่น การวิ่งหรือเคลื่อนไหวบ่อย แถมยังได้ยินเสียงรบกวนจากภายนอก ส่วนเรื่องคุณภาพเสียงถือว่าอยู่ในระดับกลางๆ ไม่โดดเด่นมาก โดยจะเสียเปรียบหูฟังประเภทอื่นเรื่องเสียงเบสและเสียงสูง

In-Ear Headphones

in-ear-headphones

หูฟังแบบอิน-เอียร์ (In-Ear) คล้ายคลึงกับหูฟังแบบแปะหู (earbuds) แต่มีวิธีการใช้งานต่างกัน นั่นคือต้องใส่ Eartips ที่ทำมาจากซิลิโคนลงไปในช่องหูให้พอดี ผู้ผลิตจึงจัด eartips ให้มาหลายขนาด โดยมาตรฐานจะมี 3 ขนาดคือ เล็ก,กลาง,ใหญ่
จุดดี
ส่วนใหญ่แล้วหูฟังแบบอิน-เอียร์มีขนาดเล็กจึงทำให้พกพาง่าย จัดเก็บได้สะดวก ส่วนความสบายในการสวมใส่หากใช้ eartips ที่พอดีกับช่องหูก็จะทำให้สวมใส่ได้นาน ไม่อึดอัดและยังช่วยในเรื่องการป้องกันเสียงรบกวนจากภายนอก จึงให้คุณภาพเสียงดีกว่าหูฟังแบบแปะหู (earbuds) โดยสามารถถ่ายทอดรายละเอียดเสียงได้ครบถ้วนมากกว่า ขณะเดียวกันก็ให้เสียงเบสที่หนักแน่น ทรงพลัง คนที่ชอบเพลงร็อคหรือเพลงฮิพฮ็อพจึงชอบหูฟังประเภทนี้

จุดด้อย
อันดับแรกคือราคาสูงกว่าหูฟัง earbuds ทั่วไป ถัดมา บางคนอาจจะไม่ชอบการใส่หูฟังแบบนี้เพราะรู้สึกอึดอัด ไม่สบายหูเนื่องจากแแรงดันที่เกิดขึ้น สุดท้ายก็คือเเม้จะให้คุณภาพเสียงดีแต่ก็ยังไม่ดีเท่าหูฟังแบบครอบหู (Full Size Headphones) ที่สามารถให้เวทีเสียงที่กว้างและชัดเจนมากกว่า

Ear Pad Headphones

ear-pad-headphones
หูฟังประเภทนี้มีขนาดใหญ่กว่าหูฟัง Earbuds และ In-Ear Headphones เนื่องจากใช้ไดรเวอร์ที่มีขนาดใหญ่กว่าและมีก้านหูฟังเป็นอุปกรณ์ยึดไดรเวอร์ทั้งซ้ายขวาเข้าหากัน ส่วนประกอบสำคัญก็คือ Ear Pad ซึ่งปกติแล้วจะออกแบบมาในขนาดที่สามารถแนบกับใบหูได้พอดี ไม่ใหญ่ถึงขั้นครอบใบหูได้ทั้งหมด นั่นหมายความว่าคุณจะสามารถได้ยินเสียงจากคนคุยกันหรือเสียงรถยนต์ที่วิ่งผ่าน ขณะเดียวกันเขาก็จะได้ยินเสียงแว่วๆ จากเพลงที่คุณกำลังฟังอยู่เช่นกัน
จุดดี
เนื่องจากมีขนาดไม่ใหญ่มากและเน้นการใช้งานแบบ On The Go คุณจึงสามารถพกพาหูฟังประเภทนี้ติดตัวไปไหนมาไหนได้ ทั้งไปทำงานหรือไปเที่ยวต่างจังหวัด ส่วนความสบายในการสวมใส่ นี่ก็ถือเป็นหูฟังอีกประเภทที่ใส่สบายเพราะปัจจุบันถูกออกแบบด้วยวัสดุที่เบา จึงไม่รู้สึกหนักเมื่อใส่นานๆ ขณะเดียวกัน ear pad ก็ไม่ทำให้เกิดความอึดอัดหรืออาการไม่พึงประสงค์บางอย่าง เช่นใบหูแดงและร้อนวูบวาบเมื่อฟังเพลงไปนานๆ ส่วนคุณภาพเสียงถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดี โดยคุณจะได้รับฟังรายละเอียดเสียงที่ชัดเจน เสียงเบสอันมีพลัง เสียงสูงที่มีความหวานใสมากขึ้น เช่นกันกับขนาดของเวทีเสียงที่ขยายใหญ่มากขึ้น
จุดด้อย
เนื่องจากว่าเวลาฟังเพลงจากหูฟังประเภทนี้ เราสามารถได้ยินเสียงจากภายนอก ดังนั้นในบางสถานการณ์ที่มีเสียงรบกวนจากภายนอกค่อนข้างดัง เช่นบนเครื่องบินก็อาจจะไม่ค่อยเหมาะ ขณะเดียวกัน ในสถานที่บางแห่งที่ต้องการความเงียบ เช่นห้องสมุดหรือแม้กระทั่งบนรถไฟฟ้า เพลงที่คุณฟังก็อาจจะไปรบกวนคนอื่นๆ ได้ หากฟังในระดับเสียงที่ดังเกินไป

Full Size Headphones

full-size-headphones

หูฟังประเภทนี้ส่วนใหญ่ใช้งานในบ้านและสตูดิโอเนื่องจากมีขนาดใหญ่ หลักการง่ายๆ ในการจำก็คือมาพร้อมกับ ear cups ขนาดใหญ่ที่สามารถครอบหูได้
จุดดี
รูปแบบการดีไซน์และงานผลิตมักอยู่ในเกณฑ์ที่ดี สามารถถ่ายทอดคุณภาพเสียงได้เต็มประสิทธิภาพทั้งรายละเอียดที่ครบถ้วน, ความเป็นธรรมชาติ, ขนาดของเสียง, ความใสกังวาน, การตอบสนองต่อเสียงเบส รวมไปถึงการป้องกันเสียงรบกวนจากภายนอก นอกจากนี้ยังมาพร้อมกับก้านหูฟังขนาดใหญ่จึงสวมใส่ได้สบายไม่รัดศรีษะ
จุดด้อย
เนื่องจากมีขนาดใหญ่จึงไม่เหมาะกับการพกพาหรือการใช้งานแบบ On The Go และบางคนอาจจะไม่ชอบโดยเฉพาะคนที่มีศรีษะค่อนข้างใหญ่ นอกจากนี้ยังอาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์บางอย่าง เช่น มีแรงดันทำให้ใบหูร้อนซึ่งนั่นจะทำให้ใส่ได้ไม่นานและฟังเพลงไม่สนุก นอกจากนี้ราคาก็เเพงกว่าหูฟังประเภทอื่นๆ ด้วย

คุณสมบัติอื่นๆ

นอกจากประเภทแล้ว ยังมีสิ่งอื่นๆ ที่เราต้องรู้เมื่อจะซื้อหูฟังซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะช่วยให้เราตัดสินใจเลือกหูฟังได้ตรงกับความต้องการ

  • Noise Cancellation สิ่งที่จะช่วยให้เราฟังเพลงได้อรรถรสมากที่สุดอีกอย่างหนึ่งก็คือการตัดเสียงรบกวนจากภายนอกเพื่อฟังเฉพาะเสียงเพลงจากเครื่องเล่น หูฟังที่มาพร้อมกับระบบป้องกันเสียงรบกวนแบบนี้ (บางทีเรียกว่า Active Noise-Cancelling) จะทำการตัดเสียงรบกวนด้วยการใช้ไมโครโฟนดักคลื่นเสียงจากภายนอกที่เล็ดลอดเข้ามาภายในหูฟัง จากนั้นใช้วงจร Noise-cancelling circuit ในการจำลองคลื่นเสียงขึ้นมาแต่กลับเฟสให้อยู่ตรงข้าม 180 องศา แล้วนำทั้งสองคลื่นมาผสมกันทำให้เกิดเป็นความเงียบขึ้น อุปกรณ์สำคัญของระบบนี้ก็คือแบตเตอรี่ นั่นหมายความว่าคุณอาจจะต้องเปลี่ยนแบตฯ (หากใช้แบตเตอรี่AAA) หรือชาร์จแบตฯ (ลิเธียม) อยู่เสมอ ผู้ผลิตที่มีชื่อเสียงด้านนี้ก็คือ Bose ซึ่งเป็นเจ้าแรกที่คิดค้นเทคโนโลยีนี้ขึ้นมา แม้จะมีประสิทธิภาพสูง ราคาของหูฟังประเภทนี้ก็จะสูงตามไปด้วย

  • Noise Isolation มีคนสับสนอยู่บ่อยครั้งระหว่าง Noise Cancelling กับ Noise Isolation จริงๆ แล้วอันหลังนี้สามารถเรียกอีกอย่างว่า Passive Noise-cancelling ก็ได้ซึ่งก็ถือเป็นการป้องกันเสียงรบกวนจากภายนอกเช่นกัน แต่อาศัยวัสดุบางอย่าง เช่น Eartips (ในหูฟังเเบบอิน-เอียร์) หรือ Ear Pad ครอบหู (หูฟังแบบ Ear Pad Headphones/Full Size Headphones) จึงไม่มีวงจรอิเล็กทรอนิกส์ข้างในหูฟังทำให้ไม่จำเป็นต้องใช้แบตเตอรี่ แต่ประสิทธิภาพของการทำงานก็ไม่อาจจะดีเท่าแบบ Active แต่ราคาก็ถูกกว่าเยอะพอสมควร
  • Wireless หูฟังไร้สายก็กำลังเป็นเทรนด์ที่กำลังได้รับความนิยม ทั้งนี้ก็เพราะช่วยตัดปัญหาสายที่รกรุงรังหรือพันกันเวลาจะใช้งาน เทคโนโลยีที่นำมาใช้เป็นตัวกลางในการเชื่อมต่อระหว่างเครื่องเล่นกับหูฟังก็คือบลูทูธ นอกจากเชื่อมต่อแบบไร้สายเเล้ว หูฟังบางรุ่นยังสามารถควบคุมการเล่นเพลงได้ด้วย ทั้งการเลื่อนเเทร็ก, เพิ่ม-ลดระดับเสียง ฯลฯ

jabra-movewireless-1

  • Waterproof หูฟังบางรุ่นก็ออกแบบมาให้สามารถกันน้ำได้เพื่อกลุ่มเหมาะเป้าหมายที่เป็นคนชอบออกกำลังกาย โดยสามารถป้องกันความเสียหายจากเหงื่อหรือละอองน้ำได้ หรือบางรุ่นก็สามารถนำลงไปฟังใต้น้ำได้

waterproof-headphones

  • Open and Closed Headphones หูฟังแบบเปิด (Open Headphones) คือหูฟังที่ออกแบบมาให้เสียงจากภายนอกเข้ามามีผลต่อคุณภาพเสียงโดยจะให้เสียงในลักษณะแบบโปร่ง คล้ายกับการฟังเพลงจากลำโพงขณะที่ฟังอยู่ในบ้าน สำหรับความสบายในการสวมใส่ หูฟังแบบเปิดจะให้ความสบายมากกว่าหูฟังแบบปิด (Closed Headphones) โดยเฉพาะบริเวณใบหูเนื่องจากมีแรงดันน้อยกว่า ขณะที่หูฟังแบบปิดถูกออกแบบมาเพื่อกันเสียงรบกวนจากภายนอกจึงสามารถให้เสียงเบสได้ดีกว่า

open-back-vs-closed-back-headphones

สิ่งที่ควรพิจารณาในการซื้อหูฟัง

choose-headphone02

1. ราคา
นี่เป็นปัจจัยสำคัญ บางทีหูฟังราคาสูงก็ใช่ว่าจะให้คุณภาพเสียงดีเลิศเสมอไป หรือบางคนอาจจะซื้อหูฟังราคาแพงมา แต่สุดท้ายก็ไม่ค่อยได้ใช้ นั่นก็เป็นการลงทุนที่ดูจะไม่คุ้มค่าเท่าไหร่ ดังนั้นควรดูพฤติกรรมการใช้ของตัวเองและสำรวจงบประมาณในกระเป๋าด้วย

2. ความสะดวกในการพกพา
ข้อนี้จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับคนที่เดินทางบ่อยหรือคนที่ต้องใช้งานแบบพกพา เช่นใช้ฟังขณะที่ไปทำงานหรือกลับจากงาน หูฟังบางรุ่นสามารถพับเก็บได้และมาพร้อมกับซองใส่ (เคส) ซึ่งมีหลากหลายรูปแบบ

3. ความสบายในการสวมใส่
นี่เป็นคุณสมบัติที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับผม หูฟังบางรุ่นแม้จะเสียงดีขนาดไหนแต่ถ้าใส่ไม่สบายก็ทำให้อรรถรสในการฟังเพลงเสียไปได้และทำให้เราไม่อยากใช้มันอีกต่อไป เทคนิคในการลองก็คือ ลองสวมหูฟังไว้อย่างน้อย 15 นาทีหรือมากกว่านั้นยิ่งดี ทั้งนี้ก็เพราะว่าความรู้สึกในการลองในช่วง 5 นาทีแรกและช่วงหลังจากนั้นจะต่างกัน มีหูฟังหลายรุ่นที่พอสวมใส่ช่วงแรกๆ จะรู้สึกดีหรือไม่อึดอัด แต่นานๆ ไปก็จะทำให้เกิดอาการเจ็บหูได้ ดังนั้น ควรลองใส่ให้นานเท่าที่จะสามารถทำได้

4. คุณภาพเสียง
ข้อนี้สำคัญที่สุด เพราะใครๆ ก็อยากได้หูฟังที่ให้เสียงดี แต่คำว่าเสียงดีของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดก็คือต้องลองด้วยตัวเอง หากเป็นคนที่ชอบเพลงร็อค เพลงแดนซ์ก็อย่าลืมให้ความสำคัญกับเสียงเบส แต่ถ้าชอบแนวอะคูสติกก็อย่าลืมว่าเสียงเครื่องดนตรีที่ได้ยิน เช่นกีตาร์หรือเพอร์คัสชั่นต้องให้เสียงเหมือนที่เราได้ยินจากเครื่องดนตรีจริง สำหรับการทดสอบก็ไม่ยาก นำเพลงที่ได้การยอมรับว่าเป็นศิลปินระดับออดิโอไฟล์ทั้งหลายอย่าง The Eagles, James Taylor ฯลฯ ไปลองฟังกับหูฟังรุ่นที่หมายตาไว้ โดยไฟล์เพลงนั้นต้องเป็นไฟล์เพลงความละเอียดสูง เช่น wave, AIFF, Flac, Apple Lossless ฯลฯ เพื่อให้ได้ความสมบูรณ์แบบที่สุด อีกขั้นตอนก็คือลองฟังเพลงที่ตัวเองชอบและคุ้นเคยดี โดยลองพิจารณาว่ามีรายละเอียดบางอย่างหายไปไหม (ถ้าหายเเสดงว่าไม่ดี) หรือมีรายละเอียดเสียงบางอย่างที่ไม่เคยได้ยินเพิ่มขึ้นมาหรือได้ยินชัดเจนกว่าเดิม (แสดงว่าหูฟังรุ่นนี้ให้รายละเอียดเสียงดี) และอย่าลืมถามพนักงานขายด้วยว่าหูฟังที่คุณลองนั้นเขานำมาให้ลองนานหรือยัง ช่วงเวลาที่ดีแก่การลองก็คือหลัง 40-100 ชั่วโมงเป็นต้นมาเพราะผ่านขั้นตอนการ burn-in มาเเล้ว

5. ความทนทานและการรับประกัน
มีหลายคนที่ต้องซื้อหูฟังคู่ใหม่อยู่บ่อยๆ เพราะคู่เก่าแตก, หัก, พัง, สายขาด ฯลฯ ดังนั้นความทนทานก็เป็นสิ่งสำคัญ ควรดูวัสดุที่ใช้ในการผลิต ความแข็งแรงและงานประกอบ ที่สำคัญก็คือการรับประกันซึ่งแน่นอนว่ายิ่งนานยิ่งดี แต่ส่วนใหญ่ก็อยู่ที่ 1-2 ปี

0.00 avg. rating (0% score) - 0 votes

Comments

comments

We will be happy to hear your thoughts

Leave a reply

ช้อปปิ้งออนไลน์ WeMall ห้างสรรพสินค้าออนไลน์ที่แรกในประเทศไทย