ถ้าพูดถึงลำโพงบลูทูธเพื่อฟังเพลง โดยที่มีเส้นเสียงคงเส้นคงวา ดีไซน์เท่กว่าใคร ชวนให้สะดุดตา น่ามอง อยากจับจองเป็นเจ้าของ โดดเด่นชนิดที่ว่าเพียงแค่เห็นสีกับรูปทรงก็พูดชื่อแบรนด์ออกมาได้แล้ว และแบรนด์ที่ว่านี้คือ “Marshall” สำหรับคนที่ไม่ใช่สายดนตรี อาจมองภาพไม่ค่อยออกว่าอะไรคือ design language ที่ทำให้รู้สึกว่าแบรนด์นี้โดดเด่น? เราจึงจะมาเล่าความเป็นมาของแบรนด์นี้กัน ว่ามีจุดแข็งมาจากอะไร…
จุดเริ่มต้นก่อนเป็นแบรนด์ชื่อดัง Marshall
ชื่อแบรนด์มาจาก Jim Marshall (ค.ศ. 1923 – 2012) ชาว London ผู้โชคร้ายที่เกิดมาไม่นานก็พบว่าเป็นวัณโรคที่กระดูก ต้องอยู่ในโรงพยาบาลต่อเนื่องหลายปี พออายุย่าง 13 ปี ผู้เป็นพ่อก็ลองแนะนำให้ลูกหัดเต้นแท็ปเพื่อกระตุ้นการใช้กระดูกหลังรักษา ระหว่างนั้นเองเขาก็หลงรักเสียงดนตรีจนยึดเป็นอาชีพ โดยเริ่มจากเป็นนักร้อง ควบคู่กับหัดตีกลองไปด้วย แต่โชคไม่ดีที่พอสงครามโลกครั้งที่สองเข้ามา ทำให้ต้องยุติสายนักร้องไป กลายไปรับงานเสริมเป็นวิศวกรไฟฟ้า ใช้เวลาว่างทำแอมป์ ‘พกพา’ ใช้คู่กับกลองชุดคู่ชีพของเขา ณ ตอนนั้น ความเชี่ยวชาญกลองสูงมากพอจนเป็นผู้สอนได้ ด้วยเหตุที่รับงานหลายอย่าง ทำให้เขามีเงินเก็บจนเปิดร้านเล็กๆ ขายอุปกรณ์ดนตรี เช่น กลอง กีตาร์
จากร้านเล็กสู่อุตสาหกรรมใหญ่
ค.ศ. 1960 จุดพลิกผันของกิจการ เกิดมาจากศิลปินสายร็อกในยุคนั้นแวะเวียนมาที่ร้านบ่อยๆ มีทั้ง Ritchie Blackmore, Big Jim Sullivan และ Pete Townshend ที่มีปัญหาไม่สบอารมณ์กับแอมป์กีตาร์ที่ไม่ถูกใจเสียที จึงอยากให้ Jim ลองผลิตแอมป์ที่พวกเขาอยากได้ออกสู่ท้องตลาด ให้มีทั้งเสียงที่ดุดัน เล่นเอฟเฟกต์บิดเบือนเสียงได้สุดโต่ง ขอกำลังขับสูง ในราคาที่ต่ำกว่าเจ้าอื่นสักหน่อย
Jim จึงผลิตแอมป์ขายครั้งแรกในปี 1963 คือ JTM 45 เป็นแอมป์หลอกสุญญากาศ แต่ไม่มาพร้อมลำโพง ต่อมาก็ออกรุ่น Marshall Bluesbreaker ใน 1964 และ Marshall 1959 ในปีถัดมา ด้วยความอเนกประสงค์ พ่วงทั้งแอมป์และลำโพง ความทรงพลังในราคาจับต้องได้ ประกอบกับเพลงแนวร็อกที่กำลังดังในยุคนั้นพอดี ทำให้กลายเป็นเอกลักษณ์ของ British blues-rock กันเลยทีเดียว
ตอกย้ำเอกลักษณ์ของแบรนด์ด้วยรุ่น JCM800 (ปี 1980) และ JCM 900 (ปี 1990) ที่มีออปชั่นปรับแต่งโทนเสียงได้เพียงแค่กดสวิตช์ อีกเหตุผลที่ทำให้เป็นหนึ่งในแอมป์กีตาร์ที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดในโลก ก็ด้วยเสียงโอเวอร์ไดรฟ์ เสียงแตกที่เรียกว่า “ครันช์” (crunch) ที่เป็นเหมือนลายเซ็นของแบรนด์ ในยุคที่เพลงสไตล์พังก์ ร็อก อยู่ในจุดรุ่งเรืองที่สุด
แผ่ขยายสู่ความเป็นไลฟ์สไตล์
ในยุคมิลเลนเนียม (ปี 2000) ที่เพลงแร็ปและฮิปฮอปโด่งดัง และแนว EDM ในยุค 2010 แบรนด์ Marshall ถือได้ว่าเป็นความคลาสสิกที่บริษัทฯ เริ่มทดลองขยายตลาดสินค้าของแบรนด์ไปสู่ความเป็นไลฟ์สไตล์มากขึ้น ประจวบเหมาะกับได้จับมือกับ Zound บริษัทผู้ผลิตหูฟังและลำโพงบลูทูธในสวีเดน แล้วร่วมกันพัฒนา ผลิตหูฟังและลำโพงโดยเฉพาะ ซึ่งมีเส้นสายอิงจากแอมป์กีตาร์และลำโพงรุ่นดังๆ ของแบรนด์
ลำโพงบ้านรุ่นต่างๆ
ในสายของลำโพงสำหรับฟังเพลงทั่วไปนั้น ทั้งหมดใช้การเชื่อมต่อผ่าน Bluetooth เป็นหลัก โดยมีรุ่นเด่นๆ อย่าง รุ่น Woburn II ที่เหมาะสำหรับผู้ชอบความหนักแน่นทั้งทรงและเสียง ด้วยลำโพง tweeters 1 นิ้ว 2 อัน กับ subwoofers ดอกขนาด 5.25 นิ้ว 2 อัน พร้อม bass reflex port กำลังขับ 110 วัตต์ ในกล่องไม้ล้วนๆ หรือจะเป็นรุ่น Stanmore II ที่เหมาะกับคนอยากได้เสียงใหญ่แบบ Woburn II แต่ไม่ต้องการลำโพงขนาดใหญ่แบบนั้น
ขยับลดขนาดลงมาหน่อยกับ Acton II กับลำโพง tweeters 15 วัตต์ 2 อัน กับ subwoofers 30 วัตต์ ประกบ bass reflex port ต่อมากับรุ่น Stockwell II ที่กันน้ำได้มากกว่าปกติ IPX4 water-resistant มีลำโพง tweeters 5 วัตต์ 2 อัน และ woofers 10 วัตต์ ประกบ bass reflex การันตีว่าใช้ได้เกิน 20 ชั่วโมงเมื่อชาร์จเต็ม
แล้วยังมีหูฟังครอบหูไร้สาย Mid A.N.C. ที่มี active noise cancelling ตัดเสียงรบกวนรอบข้าง เหมาะกับการเดินทางนอกสถานที่หรือใส่ Work From Home ลดเสียงคนรอบข้าง ใช้ได้นาน 20+ ชั่วโมง หรือ 30+ ชั่วโมงแบบไม่เปิด ANC ถ้าไม่ชอบทรงครอบหัวและยังไม่ต้องการใช้ ANC ก็ขยับลงมาเป็น MINOR II หูฟัง In-Ear ที่มีสไตล์เรียบแต่ไม่ทิ้งลาย ส่วนกลุ่มชอบใช้หูฟังแบบสายก็สามารถใช้ MINOR II ต่อหูฟังได้ แต่ถ้าต้องการเวอร์ชั่นประหยัดลงมาหน่อย แต่ยังอยู่ในคุณภาพของแบรนด์ ก็มีรุ่น MODE EQ ที่มี EQ สองสไตล์สลับเลือกใช้ คล้ายกับที่ปรากฏในแอมป์กีตาร์ พร้อมไมโครโฟนใช้คุยโทรศัพท์ ใช้คุย Zoom, Skype, Google Meet ผ่านคอมพิวเตอร์ได้ด้วย
แม้ว่าอาจจะไม่ใช่สายฟังเพลงร็อกเท่าไร ตัวสินค้าหูฟังและลำโพงเองก็มิได้จำกัดเฉพาะสายอาชีพดนตรีเสมอไป จึงทำให้ความโดดเด่นนี้เข้าถึงได้ทุกคน ตั้งแต่ใช้ฟังเพลง พร้อมเป็นลำโพงขับเสียงกีตาร์ ไปจนถึงเอาไว้เปิดเพลงชิลๆ วางไว้เป็นฉากหลังเวลาคุย Zoom ก็ได้เช่นกัน
Cr. Marshall Amplification Company และ wikipedia